ประวัติสมาคม

สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ (THAI LIFE SAVING SOCIETY)

ความเป็นมา ดร.อิทธิกร ขำเดช ได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้ง สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ ต่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจนกระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ย.45 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้อนุญาตให้จัดตั้ง สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ (เลขอนุญาตที่ ต.445/2545) และเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.45 นายทะเบียน สมาคมประจำกรุงเทพมหานคร (สำนักงานตำรวจสันติบาล) ได้ทำการจดทะเบียนสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำเป็นนิติบุคคล (ทะเบียนเลขที่ จ.4170/2545) โดยที่ทำการของสมาคมเมื่อเริ่มแรกนั้นตั้งอยู่ที่ 492/2 อาคาร 20 สำนักงานตำรวจสันติบาล ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 ปัจจุบันได้ย้ายที่ทำการของสมาคมไปอยู่ ณ เลขที่ 51/4 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ถนนติวานนท์ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120

 

 1.เป็นองค์กรเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะกุศล

 2.มีฐานะเป็นนิติบุคคล

 3.ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมือ 19 พฤศจิกายน 2545

 4.ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นสมาคมจากสำนักงานตำรวจสันติบาล เมื่อ 6 ธันวาคม 2545

 

 


 

 

วัตถุประสงค์

    1.เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างมวลสมาชิกในและต่างประเทศ เกี่ยวกับความรู้ เทคโนโลยี และกระบวนการ

       เผยแพร่รณรงค์ด้านความปลอดภัยและช่วยชีวิตทางน้ำ

 

    2.แสวงหาความร่วมมือเพื่อการสร้างสรรค์ วิธีการเผยแพร่ความรู้ด้านความปลอดภัยทางน้ำทางทะเลร่วมกับหน่วย

       ราชการ สมาคม มูลนิธิและสถาบันที่เกี่ยวข้อง

 

     3.ส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานการฝึกอบรม เรื่องความปลอดภัยและช่วยชีวิตทางน้ำให้เทียบเท่าสากล

        และขยายผลงานสู่สาธารณะอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง

 

     4.เป็นการพัฒนาและยกระดับวิทยฐานะของวิทยากร และสามารถให้การอบรมและมีสิทธินำไปใช้ในการประกอบ

        อาชีพได

 

     5.ดำเนินการปลูกฝังจิตสำนึกแห่งความปลอดภัยระดับสากลสู่เยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง

 

     6.ไม่จัดตั้งโต๊ะบิลเลียดเพื่อผลประโยชน์แต่อย่างใด

     7.ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง

 

 


 

 

 

"สัญลักษณ์ของสมาคม"
  

 

 

ว่ายสวย ช่วยเป็น เล่นปลอดภัย”

 คำขวัญของสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า

 “Swim, Save and Survive”

 

ว่ายสวย

สมาคมฯ มีเป้าหมายที่จะให้คนไทยทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย สามารถว่ายน้ำท่าต่างๆที่เป็นสากลได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ได้แก่ ท่าฟรีสไตล์ (Crawl stroke หรือ Front crawl) ท่ากรรเชียง (Back Stroke) ท่ากบ(Breast Stroke) ท่าผีเสื้อ(Butterfly Stroke) ท่ากบหงาย(Elementary Back Stroke) ท่าตะแคงข้าง(Side Stroke) และท่าว่ายน้ำเอาชีวิตรอด(Survival Stroke)

ช่วยเป็น

สมาคมฯ มีเป้าหมายที่จะให้คนไทยทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย รู้จักวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ คนตกน้ำหรือจมน้ำ ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย นอกจากนี้จะต้องรู้วิธีการกู้ชีพด้วยการผายปอด และนวดหัวใจ เพื่อให้ผู้ประสบภัยมีโอกาสรอดชีวิตด้วย การช่วยผู้ประสบภัยทางน้ำที่ถูกต้อง และปลอดภัยคือ ต้องใช้อุปกรณ์ในการช่วยทุกครั้ง ต้องให้ความช่วยเหลือจากบนฝั่งก่อนเสมอ หากต้องลงน้ำว่ายน้ำออกไปช่วย จะต้องเอาอุปกรณ์ออกไปใช้ในการช่วยทุกครั้ง จะได้ไม่ต้องเข้าไปใกล้จนถูกผู้ประสบภัยกอดรัดเอา

เล่นปลอดภัย

สมาคมฯ มีเป้าหมายที่จะให้คนไทยทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงอันตรายจากอุบัติภัยทางน้ำ รู้จักวิธีการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ และการแก้ไข เนื่องจากอุบัติภัยทางน้ำเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกสถานที่ ทุกเวลา การเตรียมอุปกรณ์สำหรับใช้ช่วยผู้ประสบภัยไว้ก่อน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้จะต้องมีความเข้าใจ และสามารถป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ ที่อาจจะเกิดภายในบ้านพัก ในชุมชน ฯ ด้วย สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 4 หรือ 5 ขวบหากปล่อยให้ทำกิจกรรมทางน้ำ อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จะต้องคอยดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เมื่อสามารถหัดว่ายน้ำได้ ก็ควรจะหัดว่ายน้ำให้เป็น หรืออย่างน้อย ก็ให้สามารถเอาตัวรอดได้


 

 

 

 

กิจกรรมของสมาคมฯ ภารกิจเฉพาะหน้าของสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำได้แก่ กระทำทุกวิถีทาง ที่จะเผยแพร่ความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำ ให้ประชาชนคนไทยรับรู้ และตระหนักถึงภัยอันตรายจากอุบัติภัยทางน้ำ ที่มีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตของทุกคน ทั้งนี้เพราะเรายังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องอุบัติภัยทางน้ำ การตกน้ำและจมน้ำ ที่เป็นมหันตภัยเงียบ ที่รวดเร็ว ทรมาน และร้ายแรงถึงชีวิต ดังนั้นกิจกรรมของสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำในปัจจุบันก็คือ การเผยแพร่และจัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับอันตราย และความปลอดภัยในกิจกรรมทางน้ำ (Water Safety) ดังนี้

1

โครงการ “ว่ายสวย ช่วยเป็น เล่นปลอดภัย“ การดำเนินการสมาคมฯ จะส่งวิทยากรไปบรรยายประกอบภาพสไลด์และสาธิต เรื่อง ความปลอดภัยทางน้ำ ให้แก่ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วๆ ไป ไม่จำกัดจำนวน เพศ  วัยและพื้นฐานความรู้ ใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับผู้ฟัง โครงการฯ นี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

2

การอบรมหลักสูตร การรักษาความปลอดภัยในกิจกรรมทางน้ำ สำหรับเจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ (Lifeguard) ครูสอนว่ายน้ำ ผู้บริหารสระว่ายน้ำ ให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง การวางแผนป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการกู้ชีพเมื่อเกิดอุบัติภัยทางน้ำ คนตกน้ำ จมน้ำ เรือล่ม ฯลฯ สามารถจัดกิจกรรมทางน้ำและดูแลผู้เข้าร่วมกิจกรรมหรือใช้บริการให้มีความปลอดภัยสูงสุด ปัจจุบันสมาคมฯ จัดการอบรมใน 3 ระดับ คือ  Junior Life Saving, Senior Life Saving และ Bronze Medallion โดยใช้มาตรฐานของ YMCA, Royal Life Saving Society; Canada, Australia, United Kingdom และของ American Red Cross

3

เขียนหรือแปลบทความเกี่ยวกับความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ การป้องกัน การช่วยคนตกน้ำ การกู้ชีพ ฯ ลงพิมพ์ในวารสารต่างๆ

4

เผยแพร่หลักสูตรการเรียนการสอนว่ายน้ำยุคใหม่ “ว่ายสวย ช่วยเป็น เล่นปลอดภัย” ที่ผู้เรียนจะได้รับความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ การเอาชีวิตรอด การช่วยคนตกน้ำและการกู้ชีพ ไปพร้อมๆ กับการเรียนท่าว่ายน้ำ หลักสูตรนี้มี 8 ระดับ ระดับละ 10 ชั่วโมง รวม 80 ชั่วโมง เมื่อผู้เรียนสอบผ่านระดับ 8 จะได้รับวุฒิบัตรว่ายน้ำ (Swim, Save & Survive 8) และจะได้รับวุฒิบัตรการช่วยผู้ประสบภัยทางน้ำระดับ Senior Life Saving จากสมาคมฯ ด้วย

5

จัดทำเอกสารทางวิชาการ ได้แก่
- คู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ (Lifeguard) 
- คู่มือการบริหารจัดการความปลอดภัยสระว่ายน้ำ 
- คู่มือปฐมพยาบาล การกู้ชีพด้วยการผายปอดและนวดหัวใจ
- การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ
- คู่มือการเรียนการสอนว่ายน้ำหลักสูตร "ว่ายสวย ช่วยเป็น เล่นปลอดภัย"